1.10.12

วิธีการเลือกซื้อรถ

วิธีการเลือกซื้อรถ

การซื้อรถใหม่สักคัน ต้องคิดให้รอบคอบถึงความต้องการที่แท้จริงของตนเองว่าจะนำรถไปใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ใดบ้าง ต้องพิจารณาถึงปัจจัยหลายอย่างเช่น งบประมาณ ยี่ห้อ ศูนย์บริการหลังการขาย เป็นต้น ซึ่งแนวทางการพิจารณาเลือกซื้อรถใหม่มีดังนี้


1. งบประมาณ
การซื้อรถ ควรซื้อตามความเหมาะสม หรือตามกำลังเงินที่พอจะจ่ายได้ มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าซื้อมาแล้วต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก สิ่งที่ควรคำนึงเกี่ยวกับการจ่ายเงินมีดังนี้
· จ่ายแบบเงินสด พร้อมสำหรับจ่ายค่าประกัน ค่าทะเบียน และค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ
· จ่ายแบบเงินผ่อน พร้อมจ่ายค่าซื้อรถในแต่ละเดือน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบำรุงรักษาต่าง ๆ ค่าประกันรถ และค่าทะเบียนปีต่อ ๆ ไป

2. วัตถุประสงค์ใช้งาน
ต้องคิดถึงวัตถุประสงค์หลักของการใช้งานว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีประโยชน์หรือข้อจำกัดมากน้อยเพียงใด เมื่อทราบวัตถุประสงค์แล้วก็สำรวจตลาดรถว่ามียี่ห้อที่เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งมีขอบเขตกว้าง ๆ ดังต่อไปนี้
2.1 ถ้าใช้งานในกรุงเทพฯ ควรเลือกรถที่มีขนาดกระทัดรัด มีความคล่องตัวสูง ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมากเป็นพิเศษ
2.2 ถ้าใช้งานในต่างจังหวัด ควรเป็นรถขนาดกลางหรือใหญ่มีการทรงตัวดี เครื่องยนต์มีกำลังเร่งทั้งที่รอบต่ำและรอบสูง เป็นรถที่แข็งแรงทนทาน
2.3 ความจำเป็นต้องใช้บรรทุกของมากน้อยและบ่อยเพียงใด
2.4 ใช้ลุยน้ำท่วมหรือไม่
2.5 ความสะดวกสบายและหรูหรา
2.6 อุปนิสัยการขับรถ ช้าหรือเร็ว เพื่อประกอบการเลือกสมรรถนะของเครื่องยนต์
2.7 ข้อจำกัดในการใช้งานอื่น ๆ เช่น ขนาดของประตูบ้าน ที่จอดรถ ซอยเข้าบ้าน ส่วนสูงของผู้ขับ ความปลอดภัยของที่จอดรถเป็นประจำ เป็นต้น

3. การประหยัด
3.1 อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง : รถที่ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมักเป็นรถขนาดเล็ก เครื่องยนต์ขนาดเล็ก เครื่องยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ตัวถังออกแบบให้ลู่ลมมากกว่า เครื่องยนต์ดีเซล มักจะมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงน้อยกว่าเครื่องเบนซิล ฯลฯ
3.2 ค่าบำรุงรักษา หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถ เมื่อใช้งานถึงระยะทาง หรือระยะเวลาที่ผู้ผลิตได้กำหนดไว้ อาทิ น้ำมันหล่อลื่นชนิดต่าง ๆ ไส้กรองชนิดต่าง ๆ หัวเทียน ยาง ฯลฯ รวมทั้งค่าแรง ตลอดจนซ่อมบำรุงได้ด้วยตนเอง หรือโดยคนสนิทที่คิดค่าใช้จ่ายถูก ๆ ก็จะช่วยให้ประหยัดได้ไม่น้อย
3.3 ค่าซ่อม หมายถึง ค่าแรงและค่าอะไหล่ของชิ้นส่วนที่หมดอายุการใช้งานหรือชำรุด
3.4 ความทนทาน สอบถามจากผู้ที่มีประสบการณ์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมยานยนต์ ก็อาจพอบอกได้ถึงความทนทานในรถที่เราต้องการ

4. การบริการหลังการขาย
4.1 มีศูนย์บริการอยู่ทั่วไป หาง่าย มีการบริการที่ดีได้มาตรฐาน และ ซื่อสัตย์
4.2 ความพร้อมของอะไหล่ อะไหล่หาง่ายไม่ต้องรอนาน มีครบทุกชิ้น ในขณะที่มีรถบางรุ่นอาจต้องรออะไหล่เป็นเดือน
4.3 เงื่อนไขการรับประกัน ระยะเวลาและความสะดวกในการทำเคลม
4.4 การดูแลเอาใจใส่ของตัวแทนจำหน่าย และพนักงานขายหลังจากซื้อรถมาแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการหลังการขาย คงต้องมาจากประสบการณ์ของท่าน ของคนรู้จัก หรือ อ่านจากหนังสือต่าง ๆ หรือ ภาพพจน์ ชื่อเสียงที่ผ่านมา

5. ความชอบและความพอใจของผู้ซื้อ
ขึ้นอยู่กับความนิยมและความพึงพอใจในยี่ห้อและการออกแบบของผู้ซื้อแต่ละคน